พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

4 ธันวาคม ค.ศ. 2024 โดย
พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
Wg.Cdr.Raweewan Kittisakkul

พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร 

มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


            พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 
* หมายเหตุ : พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้
เฉลิมพระปรมาภิไธย พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช บรมนาถบพิตร 
สมเด็จพระบรมชนกนาถ เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ตามที่จารึก
ในพระสุพรรณบัฏว่า  “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช 
บรมนาถบพิตร”
  

​พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙  แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จ   พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา เสด็จขึ้นครอง สิริราชสมบัติต่อจาก สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อวันอาทิตย์    ที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ทรงดำรงสิริราชสมบัติ ๗๐ ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ สิริพระชนมายุ ๘๘ พรรษา ๑๐ เดือน ๘ วัน

​เมื่อทรงพระเยาว์ ขณะมีพระชนมายุ ๕ พรรษา ทรงเข้าศึกษาระดับชั้นอนุบาลที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย  กรุงเทพมหานคร  ปีพุทธศักราช ๒๔๗๖  เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี  สมเด็จพระเชษฐภคินี  และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศ
สวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้าศึกษาต่อระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองต์ (École Miremont) จากนั้น ทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเอกอล นูแวล เดอ ลา สวิส โรมองด์ (École Nouvelle de la Suisse Romande) พุทธศักราช ๒๔๘๘ ทรงได้รับประกาศนียบัตร ด้านอักษรศาสตร์จากโรงเรียนยิมนาส คลาสสิค ก็องโตนาล (Gymnase Classique Cantonal) แห่งเมืองโลซาน จากนั้น ทรงศึกษาชั้นอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิชาวิทยาศาสตร์ ในเวลาต่อมา เมื่อทรงรับสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์แล้วได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ 
ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเปลี่ยนแผนกการเรียนเป็นวิชารัฐศาสตร์และกฎหมาย เพื่อเตรียมพระองค์ในการรับพระราชภารกิจ  




พุทธศักราช ๒๔๙๒ ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระธิดาใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทยในพุทธศักราช ๒๔๙๓ แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ณ วังสระปทุม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จผ่านพิภพในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ ว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร” 

ในโอกาสนี้ พระราชทานพระปฐมบรมราชโองแก่ปวงชนชาวไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม 
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
 และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ต่อมา พุทธศักราช ๒๔๙๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธย เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ **หมายเหตุ : พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชชนนี
ตามที่จารึกใน พระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง”


 

​พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวม ๔ พระองค์ คือ

          ๑. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

          ๒. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๕ เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ และทรงรับบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยสมบูรณ์ตามโบราณขัตติยราชประเพณี เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
เฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึก   ในพระสุพรรณบัฏว่า  “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี        ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

          ๓. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ครั้งดำรงพระอิสริยศักดิ์  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดากิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธยเพื่อยกย่องพระเกียรติยศเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณ วรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี”

          ๔. สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี  พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน เพื่อยกย่องพระเกียรติยศ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ มีพระนามตามจารึก ในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี”

     ​ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประชาชนชาวไทยใต้ร่มพระบารมีต่างมีความผาสุกร่มเย็น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรที่ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน   ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อก่อเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่ประเทศชาติและประชาชนโดยมิทรงย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวง ทรงอุทิศเวลาในการเสด็จพระราชดำเนินไป ยังท้องถิ่นทุรกันดารในภูมิภาคต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น ดังที่เคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้แทนนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก


“…เคยมีผู้กล่าวไว้ว่าราชอาณาจักรนั้นเปรียบเสมือนปิรามิด
มีพระมหากษัตริย์อยู่บนยอดและมีประชาชนอยู่ข้างล่าง
แต่สำหรับประเทศไทยแล้วดูเหมือนทุกอย่างจะตรงกันข้าม
นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกปวดคอและบริเวณไหล่อยู่เสมอ…”

หลังจากเสด็จนิวัตประเทศไทยเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๔ และประทับในพระราชอาณาจักรเป็นการถาวรแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร แม้ว่าในช่วงเวลานั้นเส้นทางการคมนาคมยังเต็มไปด้วยความยากลำบาก การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรอย่างเป็นทางการครั้งแรก เริ่มต้นขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๘ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคกลาง ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๑ และวันที่ ๒๗ – ๒๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ ลำดับถัดมา คือ การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ ๒ – ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ เป็นเวลา ๑๙ วัน การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ ระหว่างวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ – ๑๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๑ เป็นเวลา ๑๙ วัน และการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ ระหว่างวันที่ ๖ – ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒ เป็นเวลา ๒๐ วัน ตามลำดับ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทรงถือเป็นธรรมเนียมที่จะเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักในแต่ละภูมิภาค ภาคเหนือ ภูพิงคราชนิเวศน์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภูพานราชนิเวศน์ ภาคใต้ ทักษิณราชนิเวศน์ รวมทั้ง พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทรงงานช่วยเหลือพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารเป็นประจำทุกปี

การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้ทรงรับรู้ถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎร ดังเช่นเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทรงได้รับทราบถึงปัญหาและความยากลำบากในการเดินทางสัญจรของราษฎร จึงเป็น ที่มาของโครงการสร้างถนนสายห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการพระราชดำริด้านพัฒนาชนบทโครงการแรก ที่มุ่งช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ราษฎรกำลังประสบอยู่ ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่าขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของราษฎรในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้มีน้ำจืดไว้สำหรับบริโภคและอุปโภคได้ตลอดทั้งปี นับเป็นโครงการพระราชดำริด้านชลประทานโครงการแรก หลังจากนั้น ทรงริเริ่มโครงการด้านการพัฒนาชนบทอีกหลากหลายโครงการ ทั้งโครงการที่เกี่ยวกับดิน น้ำ ป่าไม้ การประมง และการปศุสัตว์ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และยังเป็นการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลทำให้ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีแห่งการครองราชย์ ประเทศไทยจึงมีโครงการพระราชดำริ/โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการส่วนพระองค์ โครงการตามพระราชประสงค์ จำนวนกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ และมีศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๖ แห่ง ในทุกภูมิภาคของประเทศ พระราชกรณียกิจที่ยังประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์มากมายเหลือคณานับ ได้แก่ พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา พระราชกรณียกิจด้านการคมนาคม พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย พระราชกรณียกิจด้านการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ทรงปฏิบัติพระองค์ดังพระปฐมบรมราชโองการที่ได้พระราชทานในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” อีกทั้งทรงพระวิริยะอุตสาหะทุ่มเทกำลังพระวรกายและพระราชทรัพย์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น ดังพระราชดำรัสว่า “…ขาดทุนคือกำไร (Our loss is our gain)…” ซึ่งทรงขยายความว่า การลงทุนทำโครงการเพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนนับเป็นมูลค่าเงินไม่ได้ สิ่งที่ได้คือคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและประเทศชาติได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ภาพพระราชกรณียกิจที่ปรากฏแก่สายตาประชาชนทั้งในและนอกประเทศ ตลอดระยะเวลากว่า ๗๐ ปี ที่ทรงครองราชย์ ต่างรับรู้โดยทั่วกันว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก 
ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการเป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์แก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงเป็นพระมิ่งขวัญและหลักยึดเหนี่ยวของพสกนิกรชาวไทย แม้เสด็จสวรรคตล่วงมาจนปัจจุบัน เหล่าพสกนิกรยังคงคำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณเสมอมาไม่เสื่อมคลาย  


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการยกย่องว่า ทรงเป็นปราชญ์แห่งแผ่นดินที่ทรงพระปรีชาสามารถในเรื่องน้ำ ทรงศึกษาค้นคว้าเรื่อง “น้ำ” อย่างจริงจังและลึกซึ้ง ทรงเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และได้พระราชทานแนวพระราชดำริการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยตั้งแต่บริเวณต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ การจัดการน้ำใต้ดิน การแก้ไขปัญหาอุทกภัย แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านการชลประทานของประเทศอยู่เสมอ รัชสมัยนี้ เป็นยุคทองของระบบการชลประทานไทย โครงการพระราชดำริที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสียปรากฏอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ


โครงการพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่สำคัญ ได้แก่ โครงการฝนหลวง เป็นโครงการที่ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฝนแล้ง  ฝนทิ้งช่วง  และฝนไม่ตกในพื้นที่เกษตรที่ต้องการ โครงการแก้มลิง เป็นโครงการที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและเป็นที่พักน้ำก่อนจะระบายสู่ทะเล ตัวอย่างเช่น โครงการแก้มลิง “คลองมหาชัย – สนามชัย” ทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการแก้มลิงรับน้ำอเนกประสงค์บริเวณทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เป็นโครงการเพื่อประโยชน์ในการช่วยผันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ไหลลัดออกสู่ทะเลได้เร็วยิ่งขึ้น  จึงช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  โครงการบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสัน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่ใช้ผักตบชวาดูดซับมลพิษในน้ำ และใช้เครื่องกลเติมอากาศกังหันน้ำชัยพัฒนาช่วยบำบัดน้ำเสีย โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นโครงการใช้ธรรมชาติบำบัดน้ำเสียชุมชนก่อนลงสู่ทะเล โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา เป็นโครงการป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็ม และการพระราชทานแนวพระราชดำริให้จัดสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อใช้อุปโภคบริโภค ทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม แก้ปัญหาน้ำท่วม และสำหรับใช้เป็นพลังงานผลิตไฟฟ้า เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี – สระบุรี เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ว่า “น้ำคือชีวิต หากไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้” พระราชทานแนวพระราชดำริว่าการทำลายป่าในพื้นที่ต้นน้ำจำนวนมากเป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้ง ก่อให้เกิดภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน และสร้างความเดือนร้อนให้แก่ประชาชน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ต้นน้ำจึงเกิดขึ้นหลายโครงการ ที่สำคัญได้แก่ โครงการหลวงและศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานคำแนะนำให้แก่ราษฎรเรื่องการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check Dam) เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและช่วยฟื้นฟูอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำโดยใช้วัสดุธรรมชาติก่อสร้าง ตามหลักความเรียบง่ายและประหยัด

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อการแก้ปัญหาดินในทุกลักษณะ ทั้งดินปนทราย ดินเปรี้ยว ดินเค็ม และการพังทลายของดิน เพื่อให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ดีขึ้น การทรงงานเรื่องดินเป็นที่ประจักษ์ต่อนักวิทยาศาสตร์ด้านดินทั่วโลก ในพุทธศักราช ๒๕๔๗ สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) ได้มีมติเสนอให้วันที่ ๕ ธันวาคม (วันพระบรมราชสมภพ) เป็นวันดินโลก เพื่อรำลึกถึงพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณด้านการจัดการทรัพยากรดิน        

โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับดินที่สำคัญ ได้แก่ โครงการแกล้งดิน ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จังหวัดนราธิวาส  เป็นตัวอย่างของการประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่พรุให้แก่เกษตรกรจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ทำให้สามารถปลูกข้าวและเพาะปลูกพืชไร่ได้ การศึกษาวิจัยการปลูกหญ้าแฝก ทรงศึกษางานวิจัยของธนาคารโลกเรื่องหญ้าแฝก ทรงพบว่าหญ้าแฝกเป็นพืชที่มีประโยชน์ มีรากยาวแทงทะลุดินกว่า ๓๐๐ เซนติเมตร ซึ่งรากหญ้าแฝกที่ยาวมากนี้จะเกาะเกี่ยวเนื้อดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการพังทลายของดินบริเวณเนินเขา ปัญหาดินปนทรายและดินดาน  อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำเป็นอย่างมาก จึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการศึกษาเรื่องหญ้าแฝก ซึ่งการศึกษาได้ประสบผลเป็นที่ประจักษ์ โครงการพัฒนาที่ดินบริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เป็นโครงการที่เกิดจากพระราชประสงค์ให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างพอมีพอกินตามหลักทฤษฎีใหม่ – ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการพัฒนาที่ดินและการบริหารจัดการน้ำ ด้วยการแบ่งพื้นที่แปลงเล็ก ๆ จำนวน ๑๕ ไร่ ออกเป็น ๔ ส่วน ในอัตรา ๓๐ : ๓๐ : ๓๐ : ๑๐ ส่วนแรกสำหรับการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำและเลี้ยงปลา ส่วนที่สองสำหรับปลูกข้าว  ส่วนที่สามสำหรับปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์  และ   ส่วนที่สี่สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งหากเกษตรกรมีที่ดินเป็นของตนเองแล้วจัดสรรที่ดินให้เหมาะสมตามหลักการนี้ ก็จะสามารถใช้ชีวิตพึ่งพาตนเองได้อย่างอย่างยั่งยืนภายใต้ความประหยัด เรียบง่าย มีพืชผลการเกษตรบริโภคโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินหรือระบบทุนนิยมมากจนเกินไป

นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรที่ยากจน ได้แก่ โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหนองพลับ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และโครงการจัดสรรที่ดินตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย จังหวัดเพชรบุรี  ทั้งยัง พระราชทานแนวพระราชดำริการแก้ปัญหาดินเค็ม โดยให้ใช้ระบบชลประทานช่วยเจือจางลดความเค็มของดินที่จังหวัดสกลนคร การแก้ปัญหาดินทรายตามแนวพระราชดำริ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมที่เขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เป็นอย่างมาก  ทรงพระราชดำริว่าป่าไม้เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของชาติ และนำมาซึ่งความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ การทรงงานในเรื่องป่าไม้จึงผสานเป็นแนวทางเดียวกันกับการจัดการทรัพยากรน้ำและดิน พุทธศักราช ๒๕๐๔ ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสมัยของการพัฒนา พื้นที่ป่าไม้แปรสภาพเป็นพื้นที่การเกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม จัดสรรเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย พัฒนาเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและผลิตกระแสไฟฟ้า บางพื้นที่ถูกใช้เป็นแหล่งปลูกพืชเสพติด ส่งผลให้พื้นที่ป่าลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เมื่อทรงพบว่าพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น จึงทรงพิจารณาศึกษาหาแนวทางช่วยเหลือโดยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและสภาพวิถีชีวิตของราษฎรในพื้นที่     

โครงการหลวง  เป็นโครงการเพื่อการพัฒนารักษาป่าต้นน้ำในบริเวณพื้นที่ป่าในภาคเหนือที่ถูกทำลายไปโดยชาวไทยภูเขาเพื่อทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น  โครงการหลวงประสบความสำเร็จอย่างสูงในการแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ในขณะเดียวกัน ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ให้มีอาชีพและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ขจัดปัญหาการปลูกฝิ่นซึ่งเป็นภัยคุกคามอันร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศ  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และพระราชทานคำแนะนำให้ชาวไทยภูเขาหันมาปลูกพืชผักผลไม้ และดอกไม้เมืองหนาว ทดแทนการปลูกฝิ่น เช่น ถั่วแดงหลวง มะเขือเทศ แอปเปิ้ล สตรอว์เบอรี่พันธุ์พระราชทาน ๘๐ สาลี่ พลับ ลูกท้อ ชา และกาแฟอาราบริก้า เป็นต้น รวมทั้งพระราชทานพันธุ์สัตว์ เช่น ปลาและหมู  อีกทั้ง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานพัฒนาโครงการหลวงหลายครั้ง  ปัจจุบัน โครงการหลวงเจริญก้าวหน้ามากเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ประกอบด้วย สถานีวิจัยเกษตร  ๓ แห่ง คือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีเกษตรหลวงแม่สอด สถานีเกษตรหลวงปางดะ และศูนย์พัฒนาพืชใหม่ ๆ ๒๖  ศูนย์ ซึ่งรับผิดชอบดูแลหมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา และลำพูน จำนวน ๒๑๙ หมู่บ้าน        

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ได้แก่ ป่าไม้สาธิต การอนุรักษ์พันธุ์ยางนาและพืชสมุนไพร  ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา การปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง หลักการ คือ ให้ปลูกต้นไม้ ๓ ประเภท คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ และ ไม้เศรษฐกิจ ซึ่งต้นไม้ทั้ง ๓ ประเภท  สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ประการที่ ๔ คือ ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ แนวพระราชดำรินี้เป็นการผสมผสานระหว่างการอนุรักษ์และการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า สามารถพลิกฟื้นพื้นป่าที่แห้งแล้งให้กลับมาเป็นป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์ตามระบบนิเวศอีกครั้ง  ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่น้อมนำแนวพระราชดำริมาดำเนินการจนประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ป่าชุมชนอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่อง การปลูกป่าทดแทน และการปลูกป่าชายเลนเพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ ได้แก่ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ. มุกดาหาร โครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนในเขตพื้นที่เป้าหมายจังหวัดสงขลาและจังหวัดปัตตานี  ซึ่งแนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ป่าไม้เป็นสิ่งที่ประชาชนนักเรียน นิสิต นักศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ได้สืบสานพระราชปณิธานโดยการปลูกป่าทั้งป่าบกและป่าชายเลนสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  มีพระราชประสงค์จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้ดีขึ้น จึงทรงศึกษาข้อมูลและทรงทดลองปฏิบัติงานด้านเกษตรกรรมในบริเวณ เขตพระราชฐาน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นเบื้องต้น ในชื่อ “โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา” เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๔ ได้แก่ การเลี้ยงโคนม การเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลานิล ปลาหมอเทศ แปลงนาทดลอง  ป่าไม้สาธิต โรงสีข้าว โรงบดแกลบ การคิดค้นพลังงานทดแทน พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และไบโอดีเซล เพื่อนำข้อมูลจากการทดลองมาเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติในการดำรงชีวิต เมื่อผลการศึกษาทดลองเป็นที่น่าพอใจแล้วจึงพระราชทานแนวพระราชดำริไปยังหน่วยงานผู้ปฏิบัติและเกษตรกร นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินงานโครงการเพื่อบำบัดความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้แก่ราษฎรด้วย ได้แก่  การจัดตั้งศูนย์รวมนม เพื่อรับซื้อน้ำนมดิบล้นตลาดจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้าง “โรงนมผง สวนดุสิต” เพื่อแปรรูปน้ำนมให้เก็บไว้ได้นาน ต่อมา ได้ขยายโรงผลิตผลิตภัณฑ์จากนมเพิ่มเติม คือ โรงนมเม็ด สวนดุสิต
โรงนม ยูเอชที สวนจิตรลดา และโรงเนยแข็ง  เพื่อส่งเสริมด้านโภชนาการแก่ประชาชนให้ได้บริโภคผลิตภัณฑ์นมแปรรูปคุณภาพดี ราคาไม่แพง  ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์
แปรรูปจากน้ำนมเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

ในอดีต เส้นทางการสัญจรของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นถนนดินลูกรัง หรือ ไม่ก็เป็นเพียงทางเดินเท้า ราษฎรในถิ่นที่ห่างไกลต้องอาศัยเกวียนหรือสัตว์เป็นพาหนะ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้สร้างเส้นทางคมนาคมสัญจรหลายโครงการ เพื่อประโยชน์ของราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารและแนวชายแดนให้สามารถเข้าถึงสถานีอนามัย โรงพยาบาล โรงเรียน และส่งพืชผลการเกษตรมายังแหล่งจำหน่ายได้ง่ายขึ้น เช่น พุทธศักราช ๒๔๙๕ พระราชทานรถไถหรือรถบลูโดเซอร์ (bulldozer) แก่หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวร เพื่อใช้สร้างถนนที่บ้านห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ราษฎรได้มีเส้นทางสัญจรไปมาและนำผลผลิตออกมาจำหน่ายยังชุมชนภายนอกได้สะดวกขึ้น ปัจจุบันราษฎรบ้านห้วยมงคลใช้เวลาเดินทางมาสู่ตลาดหัวหินเพียง ๒๐ นาที จากเดิมใช้เวลาถึง ๓ ชั่วโมง  รวมทั้ง พระราชทานแนวพระราชดำริให้หน่วยราชการพัฒนาเส้นทางในพื้นที่ห่างไกลในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปดูแลทุกข์สุขของราษฎรได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น การตัดถนนสายอำเภอระแงะ-บ้านดุซงญอ-นิคมพัฒนาภาคใต้  ถนนสายบ้าน
สามแยก-อำเภอสุไหงปาดี และทางสายบ้านซากอ-นิคมพัฒนาภาคใต้ รวมทั้งพัฒนาเส้นทางข้ามภูเขาระหว่างบ้านเปาสามขา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ไปยังอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ระยะทาง ๑๐ กิโลเมตร ทำให้ราษฎรทั้งสองฝั่งภูเขาติดต่อกันได้สะดวกขึ้น เป็นต้น        

ขณะที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาตามกระแสสังคมโลกยุคใหม่ “โลกาภิวัตน์” การวางระบบเชื่อมทางสัญจรทางบกและทางอากาศเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าโลก และการเพิ่มขึ้นของจำนวนยวดยานพาหนะอย่างรวดเร็ว ทำให้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีปัญหาด้านการจราจร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดลุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยพระองค์เองอย่างต่อเนื่อง และได้พระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โครงการสร้างถนนวงแหวนรัชดาภิเษก แทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ทางราชการจะจัดสร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นของขวัญ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีรัชดาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๑๔ การขยายพื้นผิวจราจรโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การจัดสร้างถนนหยดน้ำ  การขยายช่องทางการจราจรบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ  สะพานมัฆวานรังสรรค์ การขยายแนวถนนเลียบทางรถไฟสายธนบุรี (ถนนสุทธาวาส) โครงการสร้างถนนกาญจนาภิเษก โครงข่ายถนนจตุรทิศตะวันตก-ตะวันออก โครงการสร้างทางยกระดับคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี  สะพานพระราม ๘  การสร้างเส้นทางลัดในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบริเวณถนนพระราม ๙  โครงการสร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรม สะพานภูมิพล ๑ สะพานภูมิพล ๒ และโครงการตำรวจจราจรตามแนวพระราชดำริ เพื่อคอยช่วยอำนวยความสะดวกแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยวิกฤต หญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดในสภาวะที่การจราจรบนท้องถนนติดขัดหนาแน่นไม่สามารถไปถึงโรงพยาบาลได้ทันการณ์        

นอกจากพระราชทานพระราชดำริด้านเส้นทางสัญจรแล้ว ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดเส้นทางการคมนาคมโครงการสำคัญ ๆ ได้แก่  การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดสะพานมิตรภาพไทย – ลาว (หนองคาย – เวียงจันทน์) ร่วมกับ   นายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว  เพื่อเชื่อมพรมแดนการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว  เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗  การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเส้นทางการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทยเมื่อพุทธศักราช๒๕๔๗ ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้มีพระราชดำรัส ว่า “การต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้ามีความจำเป็นต้องเกิดขึ้น เพราะจะแก้ปัญหาจราจร เนื่องจากระยะทางหัวลำโพง-บางซื่อ เป็นระยะทางที่สั้นเพียง ๒๐ กิโลเมตร เท่านั้น” ตลอดจนพระราชทานนามท่าอากาศนานาชาติแห่งใหม่ของประเทศไทยว่า “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๓ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานแห่งใหม่นี้ เมื่อพุทธศักราช  ๒๕๔๕ ซึ่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๙

เมื่อต้นรัชสมัย ราวพุทธศักราช ๒๔๙๖ การแพทย์และการสาธารณสุขของไทยยังไม่เจริญนัก เกิดโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โรคเรื้อน อหิวาตกโรค โรคโปลิโอ และโรคเท้าช้าง ทรงตระหนักว่าสุขภาพอนามัยของราษฎรเป็นสิ่งสำคัญเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ ประกอบกับสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีมีพระราชปณิธานในการพัฒนาและส่งเสริมด้านการสาธารณสุขของประเทศ การทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดลุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในช่วงแรกจึงเน้นเรื่องการแพทย์และ การสาธารณสุข  เช่น พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้า และผลิตยาป้องกันวัณโรค  พระราชทานเรือเวชพาหน์ เพื่อรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่อยู่ริมแม่น้ำ พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาหุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน เพื่อช่วยแพทย์ซักถามอาการผู้ป่วยโรคติดเชื้อโดยการควบคุมจากระยะไกล และช่วยจิตแพทย์ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวช 

ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานทุนส่งเสริมการศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ การก่อตั้งมูลนิธิราชประชาสมาสัย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อน (ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้ขยายขอบเขตให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ด้วย)  การก่อตั้งมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๔  มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคคลและองค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อมวลมนุษย์โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ การพระราชทานทุนส่วนพระองค์  ได้แก่ ทุนภูมิพล ก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๕  สำหรับพระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศิริราชที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์    ทุนโปลิโอสงเคราะห์ ก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทุนปราบอหิวาตกโรค ก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑  และทุนวิจัยประสาท ก่อตั้งเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓  รวมทั้งในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามภูมิภาคต่าง ๆ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยแพทย์พระราชทานและหน่วยทันตกรรมพระราชทานออกหน่วยรักษาผู้ป่วย ด้วยพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทำให้โรคระบาดที่เกิดในประเทศไทยในอดีตสงบลง และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในภูมิภาคนี้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับเป็นสถานที่ศึกษาของพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรหลานข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไป ได้แก่ โรงเรียนจิตรลดา  โรงเรียนราชวินิต ในพระบรมราชูปถัมภ์  โรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์  โรงเรียนพระดาบส  รวมทั้งทรงรับอุปถัมภ์โรงเรียนไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์และในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่ โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ เป็นสถานศึกษาสำหรับลูกหลานชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ โรงเรียนร่มเกล้า ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นสถานศึกษาสำหรับเด็กในพื้นที่ชายแดนห่างไกลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ และโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกทั้ง  ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนไทยครอบคลุมทุกสาขาอาชีพและทุกระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับปริญญาเอก และพระราชทานทุนวิจัยสาขาต่าง ๆ ได้แก่ ทุนเล่าเรียนหลวงและทุนอานันทมหิดล สำหรับนิสิตนักศึกษาที่เรียนดีมีคุณธรรม ทุนนวฤกษ์ สำหรับนักเรียนยากจน และทุนการศึกษาสงเคราะห์ ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์  ทุนพระราชทานเหล่านี้ เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  พระบรมวงศานุวงศ์ และมีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลอย่างต่อเนื่อง เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลเพื่อสร้างอนาคตของชาติ          

ด้วยทรงเห็นว่าการให้การศึกษาจะเป็นการสร้างอนาคตของชาติ จึงทรงก่อตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจศึกษาหาความรู้ทั้งในและต่างประเทศสามารถศึกษาหาความรู้ได้ทุกเวลา พระราชทานแนวพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๖ เพื่อจัดทำหนังสือที่รวบรวมความรู้ทุกแขนงให้เยาวชนได้อ่าน นับแต่เริ่มโครงการจนถึงพุทธศักราช ๒๕๕๙  จัดทำแล้ว ๔๑ เล่ม เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ  รวมทั้งพระราชทานพระราชบรมราโชวาทแก่เหล่าบัณฑิตใหม่เป็นประจำทุกปี ด้วยทรงมุ่งหวังให้บัณฑิตผู้ซึ่งเป็นอนาคตของชาติได้นำความรู้ที่เล่าเรียน   มาไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป        

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นเสมือนครูของแผ่นดิน ดังเห็นได้จากบทพระราชนิพนธ์ พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส  ต่างสอดแทรกด้วยข้อคิด คติธรรม และปรัชญาชีวิต เพื่อเตือนใจคนไทยให้ดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควร เช่น พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก สอนเรื่องการบำเพ็ญความเพียร พระราชนิพนธ์เรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และเพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุด สอนเรื่องการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน
และพระราชนิพนธ์เรื่องทองแดง สอนเรื่องความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงเป็นพุทธมามกะที่ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างมั่นคง
ทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณี  ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙  และประทับศึกษาพระธรรมวินัย ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๑๕ วัน ในฐานะองค์พุทธศาสนูปถัมภก ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาตามราชประเพณี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรประจำฤดูโดยสม่ำเสมอ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้าง พระพุทธนวราชบพิตรขึ้น สำหรับพระราชทานเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด เพื่อประดิษฐาน ณ ศาลากลางจังหวัดต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หล่อพระพิมพ์พระสมเด็จจิตรลดา เพื่อพระราชทานเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทหาร ตำรวจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อันตรายมีความเสี่ยงสูง  นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อทำนุบำรุงและปฏิสังขรณ์พระอารามต่าง ๆ อีกทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎกเพิ่มเติม และให้จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นฉบับภาษาบาลี ฉบับแปลภาษาไทย ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการพัฒนาพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีและอรรถกถาฉบับคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกของโลกจนสำเร็จ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์หนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็กพระราชทานในวันวิสาขบูชา อีกทั้งยังสนพระราชหฤทัยเรียนรู้พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงว่างจากพระราชกรณียกิจจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสนทนาธรรมกับพระเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทรงพระราชอุตสาหะศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วยพระองค์เอง และเมื่อครั้งที่ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์  (วิน ธมมฺสาโร) แห่งวัดราชผาติการาม เรื่อง พระมหาชนก ได้เกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยต่อการทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เรื่อง พระมหาชนก        

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นเอกองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงอุปถัมภ์ศาสนาอื่นทุกศาสนาในแผ่นดินไทยทั้งศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ ดังนี้ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนการแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนิน  ไปทรงเยี่ยมราษฎรหรือติดตามความก้าวหน้าโครงการพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี มัสยิดประจำชุมชน และพระราชทาน พระราชทรัพย์เพื่อการทำนุบำรุงมัสยิด  เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับ ศาสนจักร ณ นครรัฐวาติกัน เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชมกิจการด้านการแพทย์ การศึกษาขององค์กรคริสต์ศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะพราหมณ์ คณะผู้แทนชาวไทยซิกข์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสต่าง ๆ รวมทั้ง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะพราหมณ์เป็นผู้นำในการประกอบพระราชพิธีสำคัญตามโบราณราชประเพณี

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชดำริว่า ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต จึงควรอนุรักษ์และฟื้นฟูให้คงอยู่สืบไป ได้แก่  

พระราชพิธีบางอย่างที่เลิกปฏิบัติแล้ว ทรงให้ฟื้นฟูขึ้นเสียใหม่ ทรงเห็นว่าพระราชพิธีที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและประชาชน เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกร  การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค  ช่วยรักษาราชประเพณีดั้งเดิม และเพื่อให้เรือพระราชพิธี  ซึ่งเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดี พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ช้างที่อยู่ตามธรรมชาติ  

โบราณสถานและโบราณวัตถุ ทรงพระราชดำริว่า โบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเจริญของประเทศ ดังความในพระราชดำรัสในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๔  ความว่า “…โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถาน ทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นของมีคุณค่าและจำเป็นแก่การศึกษาในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงความรุ่งเรืองของชาติไทยที่มีมาแต่ในอดีต สมควรจะสงวนรักษาให้คงถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล…” อีกทั้งได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์และเก็บรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ขุดพบตามท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งกรมศิลปากรได้สนอง พระราชดำริด้วยการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ  

งานจิตรกรรมฝาผนัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมศิลปากรเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ พระพุทธรัตนสถาน  ในพระบรมมหาราชวัง ขึ้นใหม่ ทรงแก้ไขภาพร่างทุกภาพอย่างละเอียดด้วยพระองค์เอง เพื่อรักษาไว้ซึ่งแบบแผนและเอกลักษณ์ของงานจิตรกรรมฝาผนังของไทย  

การแต่งกาย พุทธศักราช ๒๕๒๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแบบเสื้อชุดไทยพระราชทาน เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกายแบบไทย  ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้น้อมนำเสื้อชุดไทยพระราชทานใช้แทนชุดสากล  

ภาษาและหนังสือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ  ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานในโอกาสที่ทรงร่วมการอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้ภาษาไทย” กับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕ ความตอนหนึ่งว่า “ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่ง…จึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี…เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้…” 

นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์หนังสือที่มีคุณค่าพระราชทานในโอกาสต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป  เช่น หนังสือเรื่อง ธรรมเนียมราชตระกูล พระบรมราชาธิบายเรื่องความสามัคคี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

นับแต่พุทธศักราช ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์  การเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจโลกเสรีในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ให้แน่นแฟ้นจะทำให้สถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๐๒ – ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยพระราชทานเหตุผลของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนว่า “…ในสมัยนี้ ประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ…จึงควรพยายามให้รู้จักนิสัยใจคอกัน ทั้งต้องผูกน้ำใจกันไว้ให้ดี…” เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ         

พุทธศักราช ๒๕๐๒ เสด็จพระราชดำเนินเยือนเวียดนามเป็นประเทศแรก
พุทธศักราช ๒๕๐๓ เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดนีเซีย พม่า สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป รวม ๑๔ ประเทศ
พุทธศักราช ๒๕๐๕ เสด็จพระราชดำเนินเยือนปากีสถาน มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย
พุทธศักราช ๒๕๐๖ เสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่น จีน (ไต้หวัน) และฟิลิปปินส์
พุทธศักราช ๒๕๐๗ เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย
พุทธศักราช ๒๕๐๙ เสด็จพระราชดำเนินเยือนเยอรมนี
พุทธศักราช ๒๕๑๐ เสด็จพระราชดำเนินเยือนอิหร่าน สหรัฐอเมริกา และแคนาดา        

หลังจากนี้ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศใดอีก จนกระทั่งพุทธศักราช ๒๕๓๗ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนลาวเป็นประเทศสุดท้าย การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญพระราชไมตรีกับมิตรประเทศทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในสังคมโลกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดความร่วมมือแบบทวิภาคีในเวลาต่อมา ได้แก่ ความร่วมมือโครงการโคนมไทย – เดนมาร์ก เพื่อสนับสนุนการก่อตั้งสหกรณ์โคนมในประเทศไทย  การทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพันธุ์ปลานิลของญี่ปุ่นจากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าชายอากิฮิโต มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น  การได้รับเงินทุนสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี เฟลเลอร์ เพื่อการพัฒนาด้านการแพทย์และการศึกษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทรงเจริญพระราชไมตรีกับมิตรประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในหลายโอกาส อาทิ ทรงต้อนรับ        

พระประมุขและประมุขต่างประเทศที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยือนหรือเดินทางมาเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะหรือแขกของรัฐบาล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ขึ้น (พุทธศักราช ๒๕๐๕) สำหรับพระราชทานแก่พระประมุขและประมุขต่างประเทศ พระราชอาคันตุกะสำคัญแห่งพระราชวงศ์ในยุโรปและเอเชียที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยือนประเทศไทย  ได้แก่ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามี  เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ สมเด็จพระราชาธิบดี  ฆวน คาร์ลอสที่ ๑ และสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน สมเด็จพระราชาธิบดี คาร์ลที่ ๑๖ กุสตาฟ แห่งสวีเดน สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ และเจ้าชายอากิชิโนะ แห่งญี่ปุ่น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชโอรสและพระราชธิดาเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีของราชอาณาจักรอื่นตามคำกราบบังคมทูลเชิญ ได้แก่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร)  และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม – อเล็กซานเดอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๖       

พุทธศักราช ๒๕๔๙  เนื่องในโอกาสมหามงคลการพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระประมุขและพระราชวงศ์ต่างประเทศ ๒๕ ประเทศ เสด็จพระราชดำเนินและเสด็จมาทรงร่วมถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ทรงเป็นผู้แทนพระประมุขและพระราชวงศ์ต่างประเทศ กล่าวถวายพระพรชัยมงคล เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในหมู่พระที่นั่งจักรมหาปราสาท ความตอนหนึ่งว่า


“…ฝ่าพระบาทได้ทรงใช้พระราชปรีชาญาณ พระสติปัญญา
พระวิริยอุตสาหะ ตลอดจนความองอาจและกล้าหาญที่พระองค์
ทรงมีอยู่อย่างท่วมท้น ในการนำประเทศไทยให้พ้นภัย ฝ่าพระบาทไม่เคย
ทรงอยู่ห่างไกลจากพสกนิกรของพระองค์ ไม่เคยมีพระราชดำริให้ประชาชน
เป็นเพียงผู้ฟังคำสั่งหรือบริวาร ในทางตรงกันข้าม ฝ่าพระบาท
ทรงอยู่เคียงข้างและทรงร่วมทุกข์และร่วมสุข กับประชาชนชาวไทยตลอดมา…
….ฝ่าพระบาททรงเป็นมิตรที่รักและพึงเคารพที่สุดของพวกเรา
ฝ่าพระบาททรงเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าพระประมุข
ผู้เป็นมิตรที่มีความชื่นชมในพระองค์ และสิ่งนี้คือเหตุผล
ของความพร้อมเพรียงกันเพื่อเฉลิมพระเกียรติอย่างสูงสุดในครั้งนี้…”


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลจากองค์การระหว่างประเทศและสถาบันชั้นนำของโลกหลากหลายสาขา เช่น รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (Human Development Lifetime Achievement Award) จากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) รางวัลเหรียญฟีแล (Philae Medal) จากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) รางวัลเหรียญทองคำสดุดีพระเกียรติคุณด้านการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด (Award of Appreciation in Recognition of Outstanding Contributions in the Field of International Drug Control) จากโครงการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNDCP) รางวัลเหรียญเทเลฟูด (Telefood Award) จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และรางวัลเกียรติยศ Dr. Norman E. Borlaug World Food Prize Medallion ประจำปี ๒๐๐๗ ในฐานะ “พระมหากษัตริย์ นักพัฒนา”


ข้อมูลจากเว็บไซต์ : หน่วยราชการในพระองค์